ธุรกิจตั้งแผงโซลาร์เซลล์คึก!

เอกชนกว่า 50 รายคึกคัก เตรียมรับงาน ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา 100 เมกะวัตต์ กกพ.เปิดรับผู้สนใจยื่นขอขายไฟฟ้า 2-20 กันยายนนี้ “อิแทลลิค”ขอกินส่วนแบ่ง 20% หวังรายได้ 1 พันล้านบาทแต่ยังหวั่นระเบียบรับซื้อไฟฟ้ากระชั้นชิดเกินไป ย้ำทบทวนให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจ ส่วนกรณีโซลาร์รูฟท็อปขนาดเกิน 3.7 กิโลวัตต์ ส่อเข้าข่ายต้องขอ รง.4 เชื่อ “พลังงาน” เคลียร์ กรมโรงงานฯ ได้

701

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิแทลลิค จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากกระทรวงพลังงานส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ แบ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคา และอาคาร หรือโซลาร์รูฟท็อป กำลังการผลิตรวม 200 เมกะวัตต์ และโซลาร์ชุมชน กำลังการผลิตรวม 800 เมกะวัตต์นั้น ส่งผลให้ธุรกิจรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่มีอยู่กว่า 50 ราย เกิดความคึกคักเป็นอย่างมากที่จะได้งานตามมา เพราะเชื่อว่าจะมีผู้สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจำนวนมากกว่าที่ภาครัฐกำหนด ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สกพ. อยู่ระหว่างออก(ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการรับซื้อฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา พ.ศ…….

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการติดตั้งแผงเซลล์ กำลังรอความชัดเจนจากทาง กกพ. และกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะกรณีระยะเวลาเปิดรับสมัครยื่นขอจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับประชาชนที่จะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เนื่องจากร่างดังกล่าวกำหนดระยะเวลาเปิดรับตั้งแต่วันที่ 2-20 กันยายนนี้ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กระชั้นชิดเกินไป จึงต้องให้มีความชัดเจนว่าโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและโซลาร์ชุมชน ขนาด 1 เมกะวัตต์ จะไม่เข้าข่ายต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ รง.4 จากปัจจุบันที่กำหนดว่ากำลังการผลิตที่เกิน 3.7 กิโลวัตต์ หรือ 5 แรงม้า ต้องขอใบ รง.4 ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องทำข้อตกลงกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้มีความชัดเจนออกมาว่าโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ดังกล่าว ไม่ต้องขออนุญาตผ่านกรมโรงงานฯ และขั้นตอนการขออนุญาตต้องอยู่ที่กระทรวงพลังงานเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดหวังงานจากนโยบายดังกล่าวนี้ ว่าจะคว้าส่วนแบ่งจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปประมาณ 20% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท ของกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดที่ 100 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้เริ่มมีลูกค้าให้ความสนใจและยื่นเจตนารมณ์ขอติดตั้งมาบ้างแล้ว ซึ่งบริษัทเตรียมความพร้อมด้านการบริการติดตั้ง และได้หารือกับสถาบันการเงินและพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านหลังคา เพื่อเตรียมความพร้อมรับงานดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการติดตั้งในอายุสัญญาตลอดโครงการ 25 ปี

“แม้ว่าบริษัทจะนำเข้าแผงเซลล์จากจีน แต่เป็นสินค้าเกรดเอที่มีคุณภาพสูง เพื่อนำมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และเตรียมจะสั่งซื้ออุปกรณ์บางส่วนจากผู้ผลิตในประเทศ อาทิ โรงงานของบางกอกโซลาร์ ซึ่งผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิล เป็นต้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันผู้ประกอบการที่ผลิตแผงเซลล์ในประเทศ ไม่ได้ผลิตมากนัก เพราะส่วนใหญ่จะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ แต่นโยบายส่งเสริมโซลาร์เซลล์ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการกระตุ้นงานในกลุ่มผู้ติดตั้งแผงเซลล์ ที่ปัจจุบันมีกว่า 50 ราย และก่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น”

ด้านนายพิชัย ถิ่นสันติสุข กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า นโยบายการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและโซลาร์ชุมชน กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1 พันเมกะวัตต์ จะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 2.8 แสนล้านบาทในปีนี้ (คิดมูลค่าติดตั้งที่ 70 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์) และหากภาครัฐขยายกำลังการผลิตออกไปอีก ก็จะก่อให้เกิดรายได้ให้กับประเทศมากขึ้น ส่วนกรณีเข้าข่าย รง.4 นั้น กระทรวงพลังงานได้หารือเบื้องต้นกับกรมโรงงานฯ แล้วว่าสามารถข้ามผ่านไปได้โดยไม่ต้องขอใบ รง.4 การขออนุญาตจากกระทรวงพลังงานได้เลย

ขณะที่ดร.ดุสิต เครืองาม ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย กล่าวว่า สมาคมฯเตรียมยื่นหนังสือถึง กกพ.อีกครั้ง เพื่อตอกย้ำการปรับหลักเกณฑ์ในร่างระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา โดยเฉพาะระยะเวลายื่นจำหน่ายไฟฟ้าที่กระชั้นชิดเกินไป นอกจากนี้การเปิดรับแบบใครยื่นก่อนได้รับสิทธิ์ก่อน มองว่าไม่เป็นธรรม เพราะเชื่อว่าหากเปิดรับสมัครจะมีผู้ไปยื่นภายในไม่กี่นาทีก็จะเกิดโควตาแล้ว ซึ่งควรใช้วิธีการจับฉลาก จะเกิดความเป็นธรรมมากกว่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,875 วันที่ 1 – 4 กันยายน พ.ศ. 2556