กกพ. ส.อ.ท. และ SCB เสวนา Solar PV Rooftop

November 08, 2013
in News

นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยในงาน “เสวนาสร้างความรู้และความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า Solar PV Rooftop กลุ่มบ้านอยู่อาศัย” ถึงความคืบหน้าของการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้า Solar PV Rooftop กลุ่มบ้านอยู่อาศัย ภายหลังจาก กกพ. ได้ขยายระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้า Solar PV Rooftop ออกไปจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ว่า ขณะนี้มีประชาชนให้ความสนใจเข้ายื่นคำขอขายไฟฟ้ากับ 2 การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายมาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้ยอดการผลิตไฟฟ้าในส่วนบ้านอยู่อาศัยเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ 100 เมกะวัตต์ สำนักงาน กกพ. กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดงานเสวนาดังกล่าวขึ้น เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการ รวมถึงนำสถาบันการเงิน ที่มีโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการให้สินเชื่อมาร่วมให้ความรู้ และนำสินเชื่อด้านพลังงาน มาไว้ภายในงาน ซึ่งคาดว่าการขยายระยะเวลาการยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าในครั้งนี้ จะทำให้ยอดการยื่นแบบคำขอในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

Screen Shot 2556-11-08 at 11.38.44 AM

“การเสวนาครั้งนี้ เป็นประโยชน์สำหรับประชาชนอย่างมาก เพราะจะทำให้ทราบทุกขั้นตอนของการเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่การเตรียมตัวทั้งด้านเอกสาร และสถานที่ รวมถึงการยื่นคำขอขายไฟฟ้า รวมถึงงบประมาณ แหล่งเงินทุนในการติดตั้ง Solar PV Rooftop โดยครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ได้นำสินเชื่อด้านพลังงานอัตราดอกเบี้ยพิเศษ มาร่วมในโครงการ Solar PV Rooftop ซึ่งถือเป็นอีก 1 แนวทางที่ช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ” นายกวิน กล่าว

ด้าน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายใบอนุญาต สำนักงาน กกพ. กล่าวถึง กระบวนการขั้นตอนการขอใบอนุญาตว่า หลังจากที่มีการประกาศผลการรับซื้อแล้ว ผู้ที่มีสิทธ์เข้าร่วมโครงการสามารถเริ่มดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการที่อยู่ในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงสามารถติดต่อขอรับแบบฟอร์มต่างๆ เช่น แบบแจ้งขอดัดแปลงอาคาร แบบคำขอรับใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม แบบแจ้งขอยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า และแบบฟอร์มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ สำนักงาน กกพ. ส่วนผู้ที่มีสิทธ์เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสามารถติดต่อขอรับเอกสารดังกล่าวได้ที่สำนักงาน กกพ. ประจำเขตทั้ง 13 เขต ทั่วประเทศ ทั้งนี้ หากไม่สะดวกที่จะเดินทางมาขอรับแบบฟอร์มก็สามารถดาวน์โหลดได้จาก www.erc.or.th

ส่วนความคืบหน้าการขออนุญาตใบประกอบกิจการโรงงาน ( รง.4 ) ขณะนี้ สำนักงาน กกพ.อยู ระหว่างการหารือร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาทางออกในเรื่องดังกล่าวให้กับกลุ่มบ้านอยู่อาศัยที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ให้ได้รับความสะดวกในการร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV Rooftopและเพื่อให้ยอดการรับซื้อไฟฟ้า Solar PV Rooftop เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

นายมนัส อรุณวัฒนาพร ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบไฟฟ้า ฝ่ายวิจัยและพัฒนาการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวถึง ขั้นตอนการยื่นคำขอขายไฟฟ้าการเชื่อมโยงระบบและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการการรับซื้อไฟฟ้าจาก Solar PV Rooftop ว่า กฟน.จะรับผิดชอบการรับซื้อไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยผู้สนใจจะผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟน.สามารถยื่นคำขอขายไฟฟ้าและการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้ากับ กฟน. พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาได้ที่แผนกบริการ ที่ทำการ กฟน.ทั้ง 18 เขต ในพื้นที่ที่ติดตั้ง Solar PV Rooftop จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 และ กฟผ. จะทยอยประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบผ่าน www.mea.or.th พร้อมปิดประกาศ ณ ที่ทำการการไฟฟ้านครหลวง

ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก จะมีค่าใช้จ่ายในการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าและการตรวจสอบอุปกรณ์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ค่าก่อสร้างและปรับปรุงระบบจำหน่าย โดยในส่วนนี้สำหรับผู้ที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าของ กฟน. จะไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าของ กฟน. จะคิดตามค่าใช้จ่ายจริง และส่วนที่ 2.ค่าใช้จ่ายด้านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า จำนวน 10,000 บาทต่อเครื่อง

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. ให้ความสำคัญในสินค้าและบริการด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ที่สามารถสร้างและกระตุ้นจิตสำนัก ในการอนุรักษ์ รวมถึงการประหยัดพลังงานได้ในเวลาเดี่ยวกัน การจัดสัมมนานี้จึงมุ่งเน้นให้ภาคประชาชน มีความเข้าใจ มีความสะดวก ในการลงทะเบียน และ มั่นใจในมาตรการที่ภาครัฐ และองค์กรเอกชน ได้ร่วมกันให้การสนับสนุน และคาดหวังว่าประชาชนที่สนใจจะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อประโยชน์ของท่านในแง่การลงทุนที่คุ้มค่า ปลอดภัย อีกทั้งสามารถประหยัดพลังงานชาติได้อีกทางหนึ่ง

นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไทย การสร้างพลังงานทดแทนภายในประเทศ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ นอกจากจะช่วยเสริมความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าของประเทศแล้ว ยังสามารถลดปริมาณการนำเข้าเชื้อเพลิงและลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ ซึ่งจะลดปัญหาโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วยการผลิตและขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาแก่ภาครัฐจึงมีประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วยการผลิตและขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาแก่ภาครัฐจึงมีประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง

แหล่งข่าว : Link